วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

หน่วยที่ 8 ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย


8.1         แนวคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
8.1.1              ความหมาย ขอบเขตและความสำคัญของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
–          ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย หมายถึง พื้นความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการแพทย์เฉพาะถิ่นของไทย
–          ขอบเขตของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
ประเด็นที่แตกต่าง
การแพทย์พื้นบ้าน
การแพทย์แผนไทย
ที่มาของสมุนไพรที่ใช้มักใช้สมุนไพรได้ง่ายในท้องถิ่น หรือพื้นที่ใกล้เคียงด้วยมีการใช้สมุนไพรจากต่างประเทศร่วม
เทคนิคที่ใช้รักษามักใช้เทคนิคง่าย ๆ เช่น ต้ม ฝน ดอง ปั้นลูกกลอนมีวิธีซับซ้อน เช่น ทำเป็นยานัตถุ์ หุงน้ำมัน เผารมควัน
วิธีถ่ายทอดความรู้สอนตัวต่อตัว ฝึกจากประสบการณ์จริงมีเนื้อหาชัดเจน จัดเป็นระบบเรียนในห้อง
คำอธิบายสาเหตุของการป่วยสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อพื้นฐานของชุมชนมีทฤษฎีชัดเจน เช่น ความสมดุลของธาตุ 4 สมุฏฐานวินิจฉัย
การใช้พิธีกรรมใช้พิธีกรรม คาถาอาคมประกอบมากใช้พิธีกรรมและคาถาอาคมน้อยกว่า
กลุ่มคนที่ใช้กลุ่มคนเล็ก ๆ เฉพาะท้องถิ่นใช้กับคนในวงกว้าง
การรวมกลุ่มของหมอไม่ค่อยมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายมีการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาคม
–          ความสำคัญของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย มี 3 ประการ คือ
  • ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมไทยจึงสอดคล้องกับวิถีของคนไทย
  • ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องการ
  • ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านเป็นทรัพยากรที่สำคัญของวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยขน์ต่อคนไทยได้

8.1.2              ความเชื่อพื้นฐานของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
–          ความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของการป่วย ได้แก่
  • ความเชื่อเรื่องผีซึ่งมีทั้งผีดีและผีร้ายที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย
  • ความเชื่อเรื่องขวัญ หากขวัญออกจากตัวจะทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิต
  • ความเชื่อเรื่องฤกษ์และโชคชะตาที่ทำให้คนนั้นมีเคราะห์หรือเจ็บป่วยได้
  • ความเชื่อเรื่องกรรมในพุทธศาสนาที่ทำให้คนเจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิตในลักษณะต่าง ๆ กัน
–          ความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นกรอบความเชื่อพื้นฐานที่ใช้อธิบายเกี่ยวกับชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับโลกนี้ โลกอื่น และจักรวาล ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในการทำความเข้าใจกับร่างกาย การดูแลสุขภาพและการรักษาโรค นอกจากนี้ พุทธศาสนายังเป็นแหล่งสะสมและถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ เป็นสถานที่ให้การรักษาโรคมาตั้งแต่อดีต

8.2         ความหลากหลายของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
8.2.1              ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ
–          ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพของชาวล้านนา ชาวล้านนาเชื่อว่าชีวิตคนประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 2 อย่าง คือ รูปกับนาม หรือส่วนของธาตุ กับส่วนของขวัญ ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อใดที่แต่ละส่วนบกพร่องหรือความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจไม่สมดุลก็ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นได้
–          หลักการดูแลผู้ป่วยของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านล้านนา คือ การเสริมส่วนที่ขาด ขจัดส่วนที่เกิน ล้างสิ่งที่เป็นพิษ แก้ไขสิ่งที่เป็นต้นเหตุของการป่วย และบำรุงร่างกายให้แข็งแรงโดยใช้อาหารหรืองดอาหารบางชนิดที่เป็นของแสลงต่อโรค ใช้ยาสมุนไพรซึ่งเป็นยาตำรับ อาจใช้ร่วมกับการนวด การปรับพฤติกรรม หรือทำพิธีกรรมร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่อสาเหตุของการเจ็บป่วยเกิดร่วมกับการเสียสมดุลของขวัญก็จะทำพิธี ฮ้องขวัญ หรือเรียกขวัญให้กลับคืนมาสู่ร่างกายหรืออวัยวะที่ขวัญนั้นอยู่
–          วิธีการวินิจฉัยของหมอพื้นบ้านล้านนาไม่ได้แยกขั้นตอนของการวินิจฉัยกับการรักษาออกจากกันชัดเจน วิธีการวินิจฉัยไม่มีหลักที่ตายตัวหรือใช้ร่วมกัน ในส่วนของขั้นตอนการรักษาของหมอพื้นบ้านล้านนานั้น สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนี้
  • กลุ่มที่ป้องกันหรือรักษาด้วยพิธีกรรม เช่น การดูฤกษ์ยาม การขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้ายจากการดู
  • กลุ่มที่ป้องกันหรือรักษาทางกาย เช่น การนวดบีบเส้น การแหก การย่ำขาง
  • กลุ่มที่ป้องกันหรือรักษาด้วยยาสมุนไพร
  • กลุ่มที่ป้องกันหรือรักษาด้วยอาหารและการกิน เช่น การงดอาหารแสลง หรือกินอาหารให้สอดคล้องกับธาตุของผู้ป่วย

8.2.2              ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคอีสาน
–          ความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับการเจ็บป่วย คือ ความเชื่อเรื่องกรรมตามหลักพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องผี และความเชื่อเรื่องเคราะห์กรรม
–          วิธีการรักษาและหมอพื้นบ้านภาคอีสาน แบ่งได้ 6 ประเภท ได้แก่
  • หมอยาสมุนไพร รักษาโรคโดยใช้สมุนไพร โดยอาจมีคาถาอาคมประกอบด้วย
  • หมอมนต์หรือหมอเป่า รักษาโรคด้วยการเป่ามนต์หรือใช้คาถาอาคมเป็นหลัก
  • หมอธรรม ใช้พิธีกรรม เช่น ผูกฝ้าย (สายสิญจน์) รดน้ำมนต์ เป็นต้น ร่วมกับคาถาอาคมขับไล่ผีที่เป็นสาเหตุการป่วย
  • หมอสู่ขวัญ ทำพิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างกายเพื่อให้หายป่วย
  • หมอมอหรือหมอดู ใช้ดูฤกษ์ยามเคราะห์กรรมเพื่อระบุสาเหตุของการเจ็บป่วย
  • เฒ่าจ้ำ มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อบวงสรวงสังเวยผี และเทวดาประจำหมู่บ้าน

8.2.3              ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคกลาง
–          ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพของคนภาคกลาง เนื่องจากอยู่ใกล้กับศูนย์กลางพัฒนาทำให้แนวคิดเกี่ยวกับผีและอำนาจเหนือธรรมชาติมีความสำคัญลดลง ในขณะที่มีความรู้และตัวยาจากวัฒนธรรมอื่นมาใช้รักษาโรค
–          วิธีการรักษาและหมอพื้นบ้านภาคกลาง หมอพื้นบ้านที่พบเหมือนกับภาคอื่น แต่คาถาอาคมและพิธีกรรมอาจจะแตกต่างกันไปไม่ซับซ้อน

8.2.4              ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคใต้
–          ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพของคนภาคใต้ในเรื่องเหนือธรรมชาติมีน้อยกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ วัฒนธรรม การนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งทำให้คนในภาคใต้ไม่ต้องมีความรู้สึกพึ่งพิงอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติมากนัก
–          วิธีการรักษาและหมอพื้นบ้านภาคใต้ ประเภทของหมอที่รักษาส่วนใหญ่จะเป็นหมอสมุนไพรที่เชี่ยวชาญการใช้สมุนไพรในท้องถิ่น หมอตำแยที่เรียกว่า โตะบิแต และหมองู

8.3               สถานการณ์และการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
8.3.1                      สถานการณ์ปัจจุบันภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
–          ปัจจุบันกระแสความนิยมในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านมีสูงขึ้น วิธีการดูแลสุขภาพพื้นเมืองหลายวิธีได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เช่น การนวดไทย การอบไอน้ำสมุนไพร สปา อาหารสมุนไพร รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ทำในรูปแบบที่สะดวกในการใช้และพกพาในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เป็นต้น
–          นโยบายของประเทศไทยในการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่ผ่านจะช่วยให้การแพทย์พื้นบ้านเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ แต่การพัฒนาก็เป็นไปอย่างช้า ๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับการสนับสนุนการขยายตัวของระบบบริการสุขภาพแผนปัจจุบันแล้ว พบว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก นอกจากนี้การพัฒนาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ดำเนินไปตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ทำให้การศึกษาและพัฒนาส่วนใหญ่แยกขาดจากการใช้จริงของชาวบ้านที่ผูกพันอยู่กับความเชื่อในท้องถิ่น ผลจากการศึกษาจึงไม่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและใช้จริงในชุมชนมากนัก
–          สาเหตุหลักที่ทำให้คนยุคนี้ไม่สนใจสืบทอดความรู้การแพทย์พื้นบ้านเนื่องจากองค์ความรู้เหล่านี้มีโอกาสนำไปใช้น้อยลง ความรู้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไม่สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ วิธีการสืบทอดความรู้ต้องอาศัยความอดทนและใช้เวลานานกว่าจะมีความชำนาญจนได้รับการยอมรับ

8.3.2              การพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทย
–          การพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยควรต้องมีผู้มีส่วนร่วม ดังนี้
  • นักวิชาการที่หลากหลายสาขาเข้ามาทำวิจัยร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อหาข้อมูลส่วนที่ยังขาดและมุ่งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านเป็นหลัก
  • มีคนในภาครัฐให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสม และกำหนดให้มีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบประสานงานให้พัฒนาไปได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • มีการประสานงานกับภาคธุรกิจเพื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบพร้อมทั้งมีมาตรการป้องกัน มิให้นำไปเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงหรือแสวงหาผลประโยชน์
  • ให้คนในชุมชนนั้น ๆ เข้ามาเป็นตัวหลักในการเรียนรู้และพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านของตนร่วมกับนักวิชาการและภาคีอื่น ๆ

 ที่มา:https://be7herb.wordpress.com

1 ความคิดเห็น: